สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

คำพิพากษาศาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5660/2559 บุตรที่เกิดนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาในภายหลังได้ 3 ประการ คือ เมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาตามกฎหมายของ พ. และมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. มิใช่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งการที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 และมาตรา 1555 นั้น เป็นสิทธิของฝ่ายเด็กที่จะฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือ ในกรณีที่เด็กยังมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน หรือในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็ก มิใช่กรณีที่ให้สิทธิแก่บุคคลที่อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ทั้งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 แต่กลับขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาของศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. กรณีของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 1547 จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ พ. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2553 ป.พ.พ มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนี้ พฤติการณ์รับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตร เช่น การให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และการที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตรจึงไม่ใช่เหตุที่กฎหมายรับรองทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2547 ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ที่ระบุว่า จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ม. โดยที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่าย มีผลบังคับได้ทันที ข้อ 2 โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู? และข้อ 3 ระบุว่า? จำเลยตกลงให้โจทก์นำบุตรไปอยู่กับโจทก์ในวันเสาร์ตั้งแต่ 9 นาฬิกา ถึงวันอาทิตย์เวลา 17 นาฬิกา ของทุกสัปดาห์และในช่วงปิดเทอม หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยยินยอมให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์และบังคับได้ทันทีนั้น ย่อมหมายความว่า โจทก์และจำเลยจะต้องไปดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน และเมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ส่วนข้อ 3 ก็เป็นข้อตกลงที่สืบเนื่องมาจากข้อ 1 ว่าเมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากภายหลังต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจ ปกครองได้ทันที มิใช่ว่าให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญาโดยที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามข้อ 1 อันจะเป็นการขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 1547 ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ

สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาและการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามระยะเวลาและขั้นตอนตามคำพิพากษา ดังนั้น การจะบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และ ข้อ 3 ได้ จะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ก่อน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเมื่อบิดามารดาได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์มิได้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย ม. จึงไม่ถือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ม. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2541 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่าห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้นโจทก์เป็นบุตรที่จำเลยรับรองแล้วแต่จำเลยและมารดาโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยต่อเมื่อจำเลยและมารดาโจทก์สมรสกันภายหลังหรือจำเลยได้จดทะเบียนว่าโจทก์เป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547เมื่อไม่มีการดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง20 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2(ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์